Coaching Equation

หลังจากที่ผมได้เคยนำเสนอสมการคณิตศาสตร์มาแล้วสมการหนึ่ง รวมถึงได้เคยอธิบายนิยามความหมายของคำว่าโค้ชไปแล้วครั้งหนึ่ง แต่วันนี้จะขอนำเสนออีกหนึ่งสมการคณิตศาสตร์ที่ผมได้สร้างขึ้นเพื่อใช้อธิบายกระบวนการโค้ชให้คนได้เกิดความเข้าใจเพิ่มมากขึ้น สมการที่ภูมิใจนำเสนอนี้คือ สมการการโค้ช

     COACHING = COMMUNICATION +      CHANGE

       การโค้ช    =       การสื่อสาร        +  การเปลี่ยนแปลง

จากการที่เคยมีคนให้นิยาม “การโค้ช” ว่าคือ “การสื่อสาร” แต่สิ่งที่ผมอยากจะเพิ่มเข้าไปอีกก็คือ “การเปลี่ยนแปลง” เพราะ หากลำพังแค่เพียงการสื่อสาร คงยังไม่เพียงพอสำหรับการสื่อถึงการโค้ช เพราะการโค้ชมุ่งหวังพาผู้ได้รับการโค้ช(Coachee) เกิดการเปลี่ยนแปลง พัฒนาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง จากจุดใดจุดหนึ่ง ไปยังอีกจุดหนึ่ง ที่ดีขึ้น

ซึ่งการสื่อสารในรูปแบบโค้ช จำเป็นที่จะต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญๆ ดังต่อไปนี้

กรอบความคิด (MINDSET) ผู้ที่จะทำหน้าที่เป็นโค้ชจำเป็นที่จะต้องมีกรอบความคิดที่ดี ไม่ยึดติดกับกรอบความคิดของตัวเอง ไม่ตัดสิน เชื่อว่าศักยภาพของคนสามารถเพิ่มพูนได้ พฤติกรรมมนุษย์เปลี่ยนแปลงได้ และมีความมั่นใจในการสร้างกระบวนการสร้างการเปลี่ยนแปลง พาผู้ได้รับการโค้ชไปข้างหน้าสู่จุดที่ดีขึ้น

การสร้างสัมพันธ์เชิงลึก (RAPPORT) การโค้ชจะไม่สามารถบรรลุผลสัมฤทธิ์ได้เลย หากผู้ได้รับการโค้ชไม่ได้มีความรู้สึกไว้วางใจในตัวโค้ช หรือ ไม่ได้มีความรู้สึกไว้วางใจในกระบวนการโค้ช เพราะฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญ ในกระบวนการโค้ช คือ การสร้างสัมพันธ์เชิงลึก เพื่อให้ผู้ได้รับการโค้ช เกิดการ “เปิดใจ” ซึ่งหนึ่งในเคล็ดลับของการทำให้ผู้ได้รับการโค้ช เปิดใจ คือการที่โค้ช อยู่กับคนตรงหน้า (BE THERE) เพราะผู้ได้รับการโค้ช

จะรู้สึกว่าโค้ชได้ให้ความสำคัญกับตน รวมถึงโค้ชมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะรับฟังตนอย่างแท้จริง

การฟัง (LISTEN) การฟังในรูปแบบโค้ช จะเป็นการอธิบายผ่านวลีเด็ดที่ว่า “ฟังให้ได้ยิน” เพราะส่วนตัวแล้ว รู้สึกว่าวลีนี้มีพลังมากตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้ยิน เพราะที่ผ่านมาก่อนหน้าที่จะเรียนรู้เรื่องโค้ช ก็หลงเข้าใจว่าตัวเองฟังได้ดีแล้ว แต่เพิ่งจะรู้และตระหนักว่าที่ผ่านมาเราแทบฟังไม่ได้ยินเลย เพราะการฟังให้ได้ยินในวิถีโค้ช คือ ฟังด้วยใจเปิดกว้าง ฟังโดยไม่ตัดสิน ฟังในสิ่งที่ผู้พูดไม่ได้พูด ซึ่งคือสิ่งที่ซ่อนอยู่ในคำพูดของผู้ได้รับการโค้ช อันได้แก่ คุณสมบัติ(Being) คุณค่า(Value) ความต้องการ(Need) ความกลัว(Fear) และ ความเชื่อ(Belief) เป็นต้น

และเมื่อโค้ชสามารถฟังได้ยินสิ่งที่ซ่อนอยู่ในคำพูดของผู้ได้รับการโค้ช ก็จะทำให้โค้ชเกิดความเข้าใจในตัวของผู้ได้รับการโค้ชได้ดีมากยิ่งขึ้น เข้าใจ pattern ของผู้ได้รับการโค้ช รู้ว่าอะไร เป็นแรงขับเคลื่อน (Driving Force) ที่สำคัญ ซึ่งอธิบายได้ด้วย The Iceberg Change Model ว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้ คือ 80% ที่ซ่อนอยู่ใต้ภูเขาน้ำแข็ง และผู้ได้รับการโค้ชใช้ในการขับเคลื่อนชีวิตในช่วงเวลาที่ผ่านมา รวมถึงการจะใช้เป็นตัวขับเคลื่อนในการสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อไปในอนาคต จึงมีความจำเป็นมากที่โค้ชจะต้องฟังให้ได้ยินและสร้างคำถามที่ทรงพลังเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเปรียบเสมือนการทำให้ภูเขาน้ำแข็งนี้เคลื่อนตัวไปได้

การถาม (ASK) มีผู้กล่าวไว้ว่า อาวุธที่ทรงพลังอีกอย่างหนึ่งของโค้ช คือ คำถามที่ทรงพลัง(Powerful Question) หลายคนอยากได้อาวุธที่ทรงพลังนี้ อยากทราบว่ามันคือคำถามแบบไหนเหรอ? แต่ผมสามารถตอบแทนได้ว่า จากประสบการณ์ตรงในฐานะเป็นคนหนึ่งซึ่งเคยมีคำถามเกี่ยวกับ คำถามที่ทรงพลัง ว่าจะต้องมีหน้าตายังไง แท้จริงแล้วก็คือคำถาม(ที่ไม่ได้ลำลึกพิศดารอะไร)ที่เกิดจากการฟังให้ได้ยินและถามออกมาจนสามารถมีพลัง สร้างการเปลี่ยนแปลงให้ผู้ได้รับการโค้ชเกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นในรูปของ การเกิดการตระหนักรู้(Awareness) การเกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิด(Shift) และ การเกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวเองในที่สุด(Transform) แต่นอกเหนือจากการถามแล้ว โค้ชก็ยังสามารถเลือกใช้รูปแบบการสื่อสารอื่นๆ เพื่อช่วยพาผู้ได้รับการโค้ชไปข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็น การบอก(Tell/Instruct) การกระตุ้นการสร้างแรงบัลดาลใจ(Challenge/Inspire) การให้ฟีดแบค(Feedback) หรือแม้แต่ การชื่นชม(Appreciaction) สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นรูปแบบการสื่อสารสำคัญที่โค้ชสามารถนำมาใช้ให้เกิดประสิทธิผลสูงสุดในกระบวนการโค้ช