Behavioral Flexibility

จากสองอาทิตย์ที่ผ่านมาได้แนะนำให้ทุกคนได้รู้จักกับ กรอบความคิด (Mindset) หรือ ความเชื่อที่มีผลต่อพฤติกรรม ซึ่งเป็นส่วนสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาศักยภาพของคนเราทุกคน ซึ่งคงได้รู้จักกันไปแล้ว สองกรอบความคิดดีๆ และในสัปดาห์นี้ก็อยากจะแนะนำให้ทุกคนได้รู้จักกับ อีกหนึ่งกรอบความคิด เป็นกรอบความคิดที่สาม ที่มีชื่อว่า “Have behavioral flexibility.” หรือ แปลเป็นไทยได้ว่า “พฤติกรรมมนุษย์สามารถเปลี่ยนแปลงได้

พฤติกรรม (Behavior) คือ กริยาอาการที่แสดงออกหรือปฏิกิริยาโต้ตอบเมื่อเผชิญกับสิ่งเร้า (Stimulus) หรือสถานการณ์ต่าง ๆ อาการแสดงออกต่าง ๆ เหล่านั้น อาจเป็นการเคลื่อนไหวที่สังเกตได้หรือวัดได้ เช่น การแสดงออกทางกริยาท่าทาง การพูด การคิด เป็นต้น ส่วนสิ่งเร้าที่มากระทบแล้วก่อให้เกิดพฤติกรรม ก็อาจจะเป็นสิ่งเร้าภายใน (Internal Stimulus) ที่เกิดจากความต้องการทางกายภาพ เช่น ความหิว ความกระหาย สิ่งเร้าภายในนี้ จะมีอิทธิพลสูงสุดในการกระตุ้นเด็กให้แสดงพฤติกรรม และเมื่อเติบโตขึ้น สิ่งเร้าใจภายในจะลดความสำคัญลง และสิ่งเร้าภายนอก (External Stimulus) ได้แก่ สิ่งเร้าทางสังคมจะมีอิทธิพลมากขึ้นในการกำหนดว่า คนเราควรจะ แสดงพฤติกรรมอย่างใดต่อผู้อื่น โดยที่สิ่งเร้าภายนอกจะสามารถรับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้งห้า ได้แก่ หู(เสียง) ตา(ภาพ) จมูก(กลิ่น) ปาก(รส) การสัมผัสทางร่างกาย

ในทางจิตวิทยาบอกว่า ต้นเหตุของพฤติกรรมเกิดจากความเชื่อ ซึ่งส่งผลต่อทัศนคติ และส่งผลมาถึงพฤติกรรมที่แสดงออก เช่น หากคนมีความเชื่อว่า “เพื่อมีชีวิตที่มั่นคงต้องมีเงินสำรองไว้ใช้ตอนที่มีอายุมากแล้ว” คนๆ นั้น ก็จะมีทัศนคติที่ดีต่อการเก็บเงิน และจะส่งผลต่อพฤติกรรมในการออมเงิน  หรือ หากเด็ก ๆ มีความเชื่อว่า “การเรียนหนังสือจะทำให้เขามีโอกาสที่ดีในอนาคต” ก็จะมีทัศนคติในทางบวกต่อการเรียน และจะส่งผลให้มีพฤติกรรมที่ขยันเรียน  ดังนั้น หากต้องการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของใคร ก็พยายามค้นหาให้พบก่อนว่าเขามีความเชื่อว่าอย่างไร ซึ่งหากเป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง ก็ต้องพยายามโน้มน้าว ชักจูง จูงใจ เพื่อสร้างความเชื่อที่ถูกต้องให้เขา ซึ่งเมื่อเขามีความเชื่อที่ถูกต้องแล้ว ก็จะส่งผลต่อทัศนคติในเชิงบวก และส่งผลต่อพฤติกรรมที่เหมาะสม

มาถึงจุดนี้ น่าจะพอเข้าใจเพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับพฤติกรรมและที่มาของพฤติกรรม แต่ อาจจะเกิดคำถามตามมาว่า แล้วจะมีวิธีอย่างไรที่จะทำให้คนเปลี่ยนพฤติกรรมได้? จากที่ได้อธิบายไว้ข้างต้นว่า “พฤติกรรมเกิดจากความเชื่อ ซึ่งส่งผลต่อทัศนคติ และส่งผลมาถึงพฤติกรรม” ดังนั้น หากต้องการเปลี่ยนพฤติกรรม สิ่งสำคัญสิ่งแรก คือ การเปลี่ยนความเชื่อ และ ความเชื่อที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ที่ทุกคนควรจะต้องมีไว้เป็น ความเชื่อตั้งต้นก็คือ กรอบความคิด (Mindset) ที่สาม ที่มีชื่อว่า “พฤติกรรมมนุษย์สามารถเปลี่ยนแปลงได้” เพราะหากเราไม่เชื่อว่า พฤติกรรมมนุษย์จะสามารถเปลี่ยนแปลงได้ เราก็คงไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงมันได้ ในทางกลับกันหากเราเชื่อว่า พฤติกรรมมนุษย์สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เราก็จะพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองในที่สุด

ซึ่งการที่มีกรอบความคิดนี้ ไว้กับตัวเอง จะช่วยทำให้เพิ่มเติมและเสริมต่อยอดจากอีก 2 กรอบความคิดก่อนหน้า ที่แม้ว่าเราเคยเข้าใจว่าที่ผ่านคนแต่ละคนก็ทำดีที่สุดเท่าที่เค้ามีทรัพยากรในตัวเอง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาเหล่านั้น จะไม่สามารถพัฒนาได้ดีขึ้นมากไปกว่านี้ ซึ่งเราจะเชื่อว่าคนแต่ละคนก็จะมีศักยภาพที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเอง ปรับพฤติกรรม และพัฒนาตัวเอง ไปสู่จุดที่ดีขึ้น

หลายๆ คน อาจจะใช้เวลาไปกับการตั้งคำถาม หาวิธีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนอื่น ซึ่งมาถึงตอนนี้น่าจะพอที่จะเห็นแล้วว่า สิ่งแรกที่เราควรให้ความสำคัญก็คือการปรับเปลี่ยนความเชื่อของคนๆ นั้น ซึ่งควรจะเริ่มต้นจากการสร้างความเชื่อดีๆ ว่า “พฤติกรรมมนุษย์สามารถเปลี่ยนแปลงได้” ให้กับคนๆ นั้น ให้เค้าเชื่อว่า เค้าสามารถเปลี่ยนแปลงได้ และหลังจากนั้นค่อยพาเค้าไปสร้างความเชื่อใหม่ให้กับตนเอง เพื่อนำไปสู่ทัศนคติใหม่ และผลลัพธ์คือพฤติกรรมใหม่ที่ต้องการ นอกจากนั้นยังสามารถสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อพฤติกรรมที่ต้องการ เช่น หากเพื่อนที่ทำงานของเราอยากจะเปลี่ยนพฤติกรรมการออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ ตัวเรา และ เพื่อนคนอื่นๆ ในที่ทำงาน ก็สามารถทำตัวเองให้เป็นสภาพแวดล้อมเอื้อต่อการสร้างพฤติกรรมใหม่ที่จะออกกำลังกายให้สม่ำเสมอให้กับเพื่อนคนนั้น ทั้งหมดนี้น่าจะเป็นการสนับสนุนประโยคที่ว่า “แม้ว่าเราจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงคนที่ไม่อยากจะเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ แต่เราสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเอง เพื่อที่จะเกิดเป็นพลังดึงดูดผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแก่บุคคลนั้นๆได้

สุดท้ายขอจบบทความที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของมนุษย์นี้ด้วยคำกล่าวของ ชาลส์ ดาร์วินบิดาแห่งวิชาวิวัฒนาการ ที่กล่าวไว้ว่า “ไม่ใช่ผู้ที่แข็งแรงที่สุดหรือฉลาดที่สุดหรอกที่อยู่รอด แต่เป็นผู้ที่ปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงได้ดีที่สุดต่างหาก