Failure or Learning

ในสัปดาห์นี้ ขอนำเสนอกรอบความคิด (Mindset) ที่สี่ กรอบความคิดสุดท้าย ที่มีชื่อว่า “There’s no failure, only Learning” หรือ แปลเป็นไทยได้ว่า “ไม่มีความล้มเหลว มีแต่การเรียนรู้” อุปสรรคที่คอยขัดขวางไม่ให้ผู้คนลงมือทำอะไรต่อมิอะไร ก็มาจากการที่กลัว “ความล้มเหลว” ใครหลายต่อหลายคน ไม่ตัดสินใจ หรือ ไม่เริ่มต้นลงมือทำ เพราะ กลัวทำไปแล้วมันไม่ดี, กลัวทำไม่ได้, ถ้าเสนอไปแล้วถูกปฏิเสธแน่อย่าเสนอดีกว่า, ไม่เอาอ่ะ กลัวหน้าแตก ไว้คราวหน้าแล้วกัน, ล้มเหลวแน่ๆ เรามือไม่ถึงขั้นหรอก, ถ้าล้มเหลวขึ้นมา ชั้นคงแย่แน่ๆ ไม่ทำดีกว่า, อย่างเรานี่เหรอคงไม่ไหวหรอก ฯลฯ และอีกร้อยแปดความคิด ความรู้สึกที่สามารถผุดขึ้นมาในหัวของเรา ซึ่งล้วนแต่มาบั่นทอนความตั้งใจ การตัดสินใจ ในการลงมือทำของคนเรา

ซึ่งจริงๆ แล้ว อยากจะชวนให้ลองคิดตอบคำถามนี้ดูนะครับ ว่า ใครเป็นคนบอกเหรอครับ ว่า การที่เราทำอะไรแล้วไม่ได้ตามผลลัพธ์ที่ตั้งใจไว้ มันคือ “ความล้มเหลว” … ไม่มีใคร คนไหนบอกใช่ไหมครับ แต่คนที่คอยบอกและคอยตอกย้ำ ให้นิยามความหมายของสิ่งนั้น และเรียกมันว่า “ความล้มเหลว” กลับเป็น”ตัวเราเอง

จากการวิเคราะห์คนที่ประสบความสำเร็จ จะพบว่า ทุกคนล้วนแต่เคยล้มเหลวมาหลายต่อหลายครั้ง กว่าจะประสบความสำเร็จขึ้นมาได้ ในขณะที่คนบางคนจมปลักอยู่กับความล้มเหลว แต่คนที่ประสบความสำเร็จกลับทำในสิ่งที่แตกต่างออกไป คือเรียนรู้จากความล้มเหลวและมุ่งมั่นตั้งใจไปสู่ความสำเร็จดังที่ตั้งใจไว้ ถ้าเราไม่กล้าที่จะทำอะไรบางอย่างให้แตกต่างจากเดิม เราก็จะไม่มีวันได้ผลลัพธ์ใหม่ ความจริงแล้วความกล้ามันก็อยู่ในตัวเรานี่แหละ แค่เราไม่ค่อยจะเรียกมันออกมาใช้ และคุณก็ไม่ต้องไปคิดหาวิธีกำจัดความกลัวให้หมดไป เพราะความกลัวจะอยู่กับคุณตลอดชีวิต คุณไม่มีทางกำจัดมันออกไปจากชีวิตคุณได้ แต่ให้คุณอยู่กับความกลัว ดังที่เคยมีคนกล่าวไว้ว่า “จงมีความกลัวเป็นเพื่อน” เพราะคุณคิดว่าคนที่ประสบความสำเร็จเขาไม่มีความกลัวหรือ? เขาก็มีความกลัวไม่แตกต่างจากเราทุกคน เพียงแค่เขาก็ตัดสินใจลงมือทำทั้งๆที่กลัวนั่นแหละ ซึ่งสิ่งนี้อาจจะต้องอาศัยการฝึก ฝึกที่จะฝืน ฝืนตัวเองให้กล้าเผชิญกับความกลัว สิ่งที่ไม่คุ้นเคย

และกรอบความคิดนี้ ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งวิธีการที่จะช่วยให้เราจัดการกับอาการกลัวความล้มเหลว ด้วยการเปลี่ยน ภาษาที่ใช้เรียก สิ่งที่เราทำได้ไม่สำเร็จดังที่ต้องการ จากที่เคยเรียกว่า “ความล้มเหลว” ให้เปลี่ยนเป็น “การเรียนรู้” และผู้ที่เป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้ ก็คือ โทมัส อัลวา เอดิสัน นักประดิษฐ์ ผู้ยิ่งใหญ่ของโลก เป็นนักประดิษฐ์ที่มีสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ภายใต้ชื่อของเขาเป็นจำนวนมากถึง 1,093 ชิ้น เอดิสัน เป็นผู้ที่มีทัศนคติที่ดีต่อการทำงาน มองเห็นความผิดพลาดเป็นบทเรียน เป็นการเรียนรู้ เมื่อผู้ช่วยของเอดิสันกล่าวกับเขาว่า “เราทำการทดลองมากว่า 10,000 ครั้งแล้ว แต่เรายังไม่ได้สิ่งที่เราต้องการ เราคงล้มเหลวแล้วล่ะ” แต่เอดิสันกลับตอบว่า “เปล่าหรอก เรายังไม่ล้มเหลว เรารู้มากกว่าใครๆ ในโลกในเรื่องนี้ และเรายังรู้อีกว่ามี 10,000 วิธีที่ไม่ควรทำ อย่าเรียกว่า ความล้มเหลว แต่ให้เรียกว่า เป็นการเรียนรู้” ซึ่งน่าจะเป็นที่ประจักษ์กันดีแล้วว่าการที่ เอดิสัน ยึดกรอบความคิดนี้ไว้กับตัวเอง นำมาซึ่งการประสบความสำเร็จเพียงใด

ในชีวิตนี้ ต่อให้คุณจะตัดสินใจอย่างระมัดระวังเพียงใด คุณก็ไม่มีทางรู้หรอกว่า นั่นจะไม่ใช่การตัดสินใจที่ผิดพลาด จนกว่าคุณจะปล่อยให้เวลาได้ทำหน้าที่ของมัน และหากคุณบอกกับตัวเองว่า “ชีวิตคือการเรียนรู้” ถึงแม้ว่าสิ่งที่คุณตัดสินใจและลงมือทำไปแล้วนั้นจะไม่ได้ผลลัพธ์ดังที่ตั้งใจไว้ ก็คงไม่ใช่ประเด็นสำคัญอะไรอีกต่อไป เพราะคุณก็ได้เรียนรู้อีกหนึ่งวิธีการที่ทำแล้วมันไม่เวิร์ค และความเป็นจริงที่สำคัญอีกหนึ่งประการ ก็คือ มันเป็นเรื่องปกติ ของมนุษย์เรา ที่ไม่มีใครเกิดมาสมบูรณ์แบบ ไม่มีใครที่ไม่เคยทำอะไรผิดพลาด ดังนั้น หากทำอะไรไปแล้วผิดพลาดบ้าง จะเป็นไรไป

การตัดสินใจลงมือทำ นำมาซึ่งผลลัพธ์ 2 ประการ คือ “ความสำเร็จ” และ “การที่ได้เรียนรู้” ซึ่งไม่ว่าผลที่ได้รับจะเป็นอะไร ก็ล้วนแต่มีประโยชน์ด้วยกันทั้งคู่ และเมื่อเข้าใจเช่นนี้ ก็ย่อมจะทำให้เรามีกำลังใจในการตัดสินใจลงมือทำ และมุ่งมั่นสู่ความสำเร็จเพิ่มมากขึ้น เนื่องจาก จะไม่มีคำว่า “ล้มเหลว” อีกต่อไป