The Power of Language

ในการใช้ชีวิตของเราในแต่ละวัน เราทำการสื่อสารอยู่ตลอดเวลา เราได้ใช้ภาษาสื่อสารออกไปอยู่ตลอดเวลา และทุกครั้งที่เราได้ทำการใช้ภาษาพูดสื่อสารออกไป เปล่งวาจาออกไป เราอาจจะเคยเข้าใจว่ามีเพียงอีกฝั่งที่เป็นผู้รับฟัง แต่เราอาจจะหลงลืมไปว่า แท้จริงแล้วนั้นยังมีอีกคนที่ได้ยินและได้ฟังในทุกๆ ครั้งที่เราเอื้อนเอ่ยคำพูดอะไรออกไป ซึ่งก็คือตัวเราเอง รวมถึง เรามักจะไม่ค่อยรู้ตัวว่าในแต่ละขณะ แม้เราจะไม่ได้เปล่งเสียงพูดออกมาดังๆ แต่เราก็มักจะมีการพูดกับตัวเองอยู่ในใจเสมอๆ เกือบตลอดเวลา ซึ่งการสนทนากับตัวเองในสมองของเราจะเกิดขึ้นไปเรื่อยๆ เหมือนกับเทปที่เปิดซ้ำแล้วซ้ำอีก และบ่อยครั้งที่การสนทนาในสมองของเรานั้นเป็นไปในทางลบ ซึ่งเกิดซ้ำแล้วซ้ำอีกโดยที่เราไม่ทราบว่าการสนทนานั้นส่งผลลบอย่างไรไปสู่สมอง ความคิด และการกระทำต่างๆ ของคนเราบ้าง

โดยที่ จิตใต้สำนึก ของคนเรา จะทำหน้าที่รับข้อมูลที่ผ่านเข้ามาทางประสาทสัมผัสทั้ง 5 (การเห็น, การได้ยิน, การลิ้มรส, การได้กลิ่น และการสัมผัส) โดยที่ไม่สามารถแยกแยะ ได้ว่าข้อมูลนั้นดีหรือไม่ดี, เที่ยงตรงหรือไม่เที่ยงตรง, สร้างสรรค์หรือทำลายอย่างไร และข้อมูลที่เรารับเข้าไปยัง จิตใต้สำนึก นี้เองจะเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมต่างๆ ของคนเรา เมื่อเราทราบเช่นนี้แล้ว หนึ่งในวิธีที่เราสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตของเราได้ ก็คือ การเปลี่ยนข้อมูลในจิตใต้สำนึกของเราเองด้วยการเลือกใช้คำพูดเลือกใช้ภาษาของตัวเราเอง

แท้จริงแล้ว ภาษา เป็นเพียงสัญลักษณ์ที่เราใช้แทนหรือใช้เรียกความเป็นจริงบางอย่างเท่านั้น แต่เมื่อใช้เป็นประจำ นานเข้าเราก็มักจะลืมไปว่ามันเป็นเพียงสัญลักษณ์ แต่กลับไปยึดถือมันว่าเป็น “ความเป็นจริง” ซึ่งแท้จริงแล้วมันเกิดจากการ “ตีความ” เพราะมนุษย์เราแต่ละคนก็จะมีพจนานุกรมส่วนตัวของแต่ละคน การให้ความหมายของคำแต่ละคำ ก็จะแตกต่างกันออกไป ยกตัวอย่างเช่น หากให้คุณนึกถึงคำว่า “บ้าน” สิ่งแรกที่คุณนึกถึง หรือคำแรกที่ผุดขึ้นมาในหัว คือคำว่าอะไร ? ลองทดสอบถามคนรอบข้างดู จะพบว่า “บ้าน” ในความหมายของแต่ละคนก็จะมีความหมายที่แตกต่างกันไป บางคน อาจจะนึกถึงสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งก็ยังต่างกันที่บ้านบางคนเป็นไม้ บางคนเป็นปูน บางคนเป็นบ้านชั้นเดียว บางคนเป็นบ้านหลายชั้น บ้านแต่ละคนก็จะมีสีที่แตกต่างกันไป และบางคน อาจจะนึกถึงพ่อแม่ลูก นึกถึงครอบครัว นึกถึงความรู้สึกอบอุ่น ฯลฯ ซึ่งทำให้เห็นได้ว่า แค่คำหนึ่งคำของแต่ละคนก็มีการให้นิยามความหมายที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นสิ่งที่เราเคยคิดว่าอีกฝ่ายน่าจะเข้าใจสิ่งที่เราพูดหรือสื่อสารออกไปอาจจะไม่เป็นเช่นนั้นร้อยเปอร์เซ็นต์

ภาษา ถือได้ว่ามีผลต่อพฤติกรรมของมนุษย์ สามารถกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมโดยอัตโนมัติ เช่น ชายคนหนึ่งกำลังกินอาหารอย่างเอร็ดอร่อย เขาชอบมันมากจนออกปากขอสูตร แต่ทันทีที่รู้ว่าอาหารจานเด็ดที่เขากินเข้าไปนั้น มันทำมาจาก เนื้อคางคก เขาก็วิ่งเข้าห้องน้ำไปอาเจียรทันที ปฏิกิริยานี้ไม่ได้เกิดจากตัวอาหารเอง แต่เป็นปฏิกิริยาต่อ “คำ” หรือต่อ “ชื่อ” ของสิ่งที่ร่างกายไม่พึงปรารถนา แม้ว่าก่อนหน้านั้นระหว่างที่กินอย่างเอร็ดอร่อย อย่างน้อยลิ้นของเขาก็ชอบสิ่งนั้นมาก

และ ภาษา ยังมีผลต่อความรู้สึก เพราะสามารถช่วยทำให้ความหนักหนาของบางสิ่งบางเหตุการณ์ดูเบาลง เช่น เราใช้คำว่า “จากไป” แทนคำว่า “ตาย” หรือ หมอเลือกใช้ภาษาในการบอกว่าคนไข้มี “ทูเมอร์” แทนที่จะพูดว่า “เนื้องอก” และในการใช้คำยากๆ หรือภาษาต่างประเทศก็ทำให้ผู้พูดดู “ทรงภูมิ” หรือ “น่าเชื่อถือ

นอกจากนั้น ภาษาก็สามารถปลุกเร้าให้คนมีความรู้สึก ฮึกเหิม ถึงขนาดยินดี พลีชีพได้เพื่อ “ชาติ” เพื่อ “อิสรภาพ” เพื่อ “ประชาธิปไตย” และ อะไรอีกหลายๆ อย่างที่เป็น “นามธรรม“ภาษาสามารถสะท้อนความคิดความเป็นตัวตนของคน ผู้ที่ใช้ภาษาเชิงบวกจะทำให้ผู้อื่นมีความสุขจากสารดีๆ ที่สื่อออกมา ในทางตรงกันข้ามผู้ใช้ภาษาเชิงลบ ก็มักจะใช้ภาษาในทางลบ ทำให้ตัวเองและคนรอบข้างเป็นทุกข์

มาถึงตรงนี้แล้ว น่าจะพอเห็นพลังของภาษา และความสำคัญของภาษาที่มีผลต่อพฤติกรรมของเรา การใช้ชีวิตของเรา แต่ยังมีเรื่องราวของ พลังของภาษา ที่อยากจะแบ่งปันกันอีก อย่างไรแล้ว มาต่อกันในบทความหน้านะครับ