การโค้ช กับ หมอฟัน

ในจังหวะที่โค้ชอย่างผมนอนอยู่บนเก้าอี้หมอฟัน
อ้าปากเพื่อให้คุณหมอปฏิบัติภารกิจอย่างสงบ
สิ่งที่เกิดขึ้นมาในหัว ก็คือ “การโค้ช กับ หมอฟัน”
ช่างมีอะไรที่คล้ายๆ กันอยู่เหมือนกันนะ เช่น

[ กลัวการไปหาหมอฟัน? ]
ผมคิดว่าถ้าถามคนส่วนใหญ่แม้ว่าจะไม่บอกว่า 
กลัวการไปหาหมอฟัน แต่คงมีน้อยมากที่คลั่งไคล้การไปหาหมอฟัน แต่เมื่อคุณได้รับการรักษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ปัญหาของคุณได้รับการคลี่คลาย อาการเจ็บปวดที่เกิดขึ้น
ก็ได้ถูกขจัดไป คุณสามารถทำสิ่งต่างๆ ได้ อย่างมีความสุข
ต่างกับการที่จะเก็บปัญหา อาการเจ็บปวดให้อยู่กับตัวเองต่อไป

เชื่อว่า คุณๆ คงเคยมีประสบการณ์ปวดฟัน เสียวฟัน กันทุกคน
และคงไม่อยากปล่อยให้ตัวเองต้องทนอยู่กับความเจ็บปวดต่อไป แม้ว่าระหว่างการรักษา อาจจะทำให้เรามีน้ำตากับความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น แต่เชื่อว่าเป็นความเจ็บปวดในช่วงเวลาสั้นๆและความเจ็บปวดในช่วงสั้้นๆ นี้ จะทำให้ความเจ็บปวดที่เคยอยู่กับเรามาตลอดก่อนหน้านี้ที่นับวันจะเจ็บปวดรุนแรงมากขึ้นมลายหายไป ซึ่งการโค้ช ก็เช่นกัน ที่ในระหว่างกระบวนการโค้ช

บางท่านอาจจะเกิดการมีน้ำตา แต่ให้เชื่อว่า เมื่อสิ่งต่างๆ ที่เคยเป็นปัญหา เป็นปม ได้รับการคลี่คลาย ความรู้สึกโล่งขึ้น สบายใจก็จะเกิดขึ้นในที่สุด … ดังนั้น อยากจะบอกว่า การไปหาหมอฟัน และ การพบโค้ช ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ครับ และมันจะทำให้คุณรู้สึกดีขึ้น สุขภาพดีขึ้น มีความสุขมากขึ้นครับ

[ การเปิดปาก ]

และคุณคงไม่สามารถปฏิเสธได้เลย ว่า การไปหาหมอฟัน
ของคุณจะไม่เกิดผลใดๆ หากคุณนอนหุบปาก ปิดปาก
สิ่งที่จะช่วยในการรักษาเป็นผล ก็คือ คุณต้องให้ความร่วมมือ
การอ้าปากกว้าง จะเป็นการให้ความร่วมมือในการรักษาที่ดี
คุณหมอจะได้สามารถทำการตรวจสุขภาพช่องปากและรักษา
ได้สะดวก ซึ่ง ก็ไม่ต่างกับการโค้ช ที่ หากผู้รับการโค้ช
ไม่เปิดปาก หรือ เปิดใจ ที่จะพูดคุยกับโค้ช การโค้ชครั้งนั้น
ก็คงจะไม่เกิดประโยชน์ต่อตัวผู้รับการโค้ชแต่อย่างใด
และไม่ต้องกังวลว่าจะต้องอ้าปากเมื่อย เพราะคุณหมอ
เค้าก็จะมีเครื่องมือช่วยทำให้เราสามารถอ้าปากได้ง่ายขึ้น
ซึ่งการโค้ชก็เช่นกันโค้ชก็จะมีเครื่องมือของโค้ชที่เป็นทักษะ
ในการทำให้ผู้รับการโค้ชเกิดความรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น
ในการเปิดปากและเปิดใจพูดคุยกับโค้ช
และด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้น คุณหมอ ก็จะทำการ
เอ็กซเรย์ ซึ่งจะช่วยทำให้คุณหมอทราบถึงสภาพของปัญหา
ที่เกิดขึ้นที่ไม่สามารถดูได้จากภายนอกด้วยตาเปล่า
ผมคิดว่าการเอ็กซเรย์นี้ โค้ชก็สามารถสำรวจได้ลึกเข้าไป
ถึงสิ่งที่ซ่อนอยู่ภายในเรื่องราว ปัญหา หรือ สิ่งที่ผู้รับการโค้ช
ได้ทำการพูดออกมา โค้ชจะสามารถเข้าใจถึงสิ่งที่ไม่ได้พูด
เข้าใจถึง pattern บางอย่างของผู้รับการโค้ช เช่น ความรู้สึก,
ความคิด, ความเชื่อ, ความกลัว, ความต้องการ ฯลฯ
เช่นนั้นแล้ว ความสำเร็จในการรักษา หรือ การรับการโค้ช
จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากปราศจากความร่วมมือที่ดีจากคนไข้
หรือ ผู้รับการโค้ชครับ

[ “ดีนะที่มาพบคุณหมอแต่เนิ่นๆ” ]

และเมื่อคนส่วนมากไม่ค่อยอยากจะไปพบหมอฟัน
ก็เลยมักจะประวิงเวลาในการนำพาตัวเองไปพบคุณหมอ
ผมรู้สึกโชคดีและขอบคุณตัวเองมากที่ตัดสินใจพาตัวเอง
มาพบคุณหมอ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ยอมรับเลยว่าก็อิดออด
และพยายามคิดเข้าข้างตัวเองว่ามันน่าจะไม่เป็นอะไรมาก
ซึ่งระหว่างการรักษา เมื่อคุณหมอบอกกับผมว่า
“ดีนะที่มาพบคุณหมอแต่เนิ่นๆ” ไม่เช่นนั้น การรักษา
จะยุ่งยากมากขึ้น เช่นจากที่สามารถอุดได้ กลายเป็นว่า
อาจจะต้องทำการรักษารากฟัน เพราะได้รุกรามไปถึง
ประสาทฟันเรียบร้อยแล้ว ซึ่งก็จะทำให้ความเจ็บปวด
ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น และใช้เวลาในการรักษา
เพิ่มมากขึ้น รวมถึงค่าใช้จ่ายในการรักษาก็จะเพิ่มมากขึ้น
ด้วยเช่นกัน ผมเชื่อว่าคงมีคนไม่น้อยที่มีความคิดคล้ายๆ
กันกับผม คือ “เอาไว้ก่อน…คงไม่เป็นอะไรมาก” และบางคน
อาจจะพยายามทำการรักษาด้วยตัวเอง แต่ก็อาจจะเป็นเพียง
การรักษาที่ปลายเหตุ เช่น การซื้อยาแก้ปวดมารับประทาน
หรือ ติด “กอเอี๊ยะ” เพื่อบรรเทาอาการปวดฟัน ซึ่งไม่ได้
เป็นการจัดการที่ต้นเหตุ และอาจจะต้องยอมรับว่าบางที
ปัญหาที่เราเผชิญอยู่นี้ ก็อาจจะเป็นปัญหาที่ตัวเราเอง
ไม่สามารถรักษา หรือ เยียวยาได้ด้วยตัวเอง เช่นเดียวกับ
การรักษาโรคฟัน ที่เราก็ยังคงต้องพาตัวเองไปพบกับ
ผู้เชี่ยวชาญที่ความรู้ความสามารถรวมถึงมีอุปกรณ์
ในการรักษาที่ครบครัน … เรามีความต้องการคุณหมอฟัน
ในการรักษาโรคในช่องปากของเรา เพราะเราไม่สามารถ
ทำมันได้ด้วยตัวเองลำพัง เช่นเดียวกัน เราก็มีความต้องการ
โค้ชที่จะช่วยให้เราสามารถก้าวข้ามบางประเด็นที่เราไม่สามารถคลี่คลายได้ด้วยตัวเราเองเช่นกัน และ การประวิงเวลา การซุกปัญหาไว้ใต้พรม หรือ แม้แต่การพยายามแก้ปัญหาที่ปลายเหตุไม่ได้ช่วยอะไรให้ดีขึ้นเลย จงอย่ากลัวในการพาตัวเองไปพบหมอฟัน หรือ โค้ช แต่เนิ่นๆ ก่อนที่ปัญหาจะรุกรามจนอาจจะยากต่อการรักษาครับ

[ “ขูดหินปูน ครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่?” ]

ในระหว่างดำเนินการตรวจสุขภาพในช่องปาก คุณหมอ
ก็ได้ถามผมว่า “ขูดหินปูน ครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่?” ซึ่งทำให้
ผมฉุกคิดว่าขึ้นมาว่า โหว…เราละเลย การดูแลสุขภาพฟัน
ของตัวเองมานานมากๆ เลย เพราะผมจำไม่ได้แล้วว่า
ผมขูดหินปูนครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ ซึ่งคุณหมอก็ได้แนะนำว่า
เราควรที่จะทำการขูดหินปูนทุกปี ปีละ 1 ครั้ง
ซึ่งคงไม่ต่างกับการตรวจสุขภาพประจำปี ที่หลายๆ คน
อาจจะทำเป็นประจำอยู่แล้ว แต่ก็เชื่อได้ว่าหลายคนอาจจะ
ไม่ได้ทำ จุดนี้ทำให้ผมคิดว่า การพาตัวเองมาพบคุณหมอฟัน
อาจจะไม่จำเป็นต้องรอเวลาที่เรามีปัญหาปวดฟัน หรือ ปัญหา
เกี่ยวกับโรคในช่องปาก ก็ได้ เราสามารถมาพบคุณหมอฟัน
เพื่อตรวจสุขภาพของช่องปากของเราและทำการดูแล
ให้เป็นประจำสม่ำเสมอ เป็นการดูแลเชิงป้องกันตั้งแต่
ปัญหายังไม่เกิด ซึ่งหากเปรียบกับการโค้ช ผมก็คิดว่า
หลายคนมองว่า การมาพบโค้ช คือ ต้องรอให้ตัวเองมีปัญหา
หรือ ต้องรอให้ปัญหามันหนักมากแล้วจริงๆ ถึงจะมาพบโค้ช
แต่แท้จริงแล้ว คุณไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรอเวลาขนาดนั้น
คุณสามารถพบโค้ชได้แม้กระทั่งคุณไม่ได้รู้สึกว่าตัวคุณ
มีปัญหาอะไร เพราะจริงๆ แล้วการโค้ชไม่ได้มีไว้สำหรับ
แก้ปัญหา ไม่ได้มีไว้สำหรับซ่อม แก้ไข แต่การโค้ชสามารถ
พัฒนาสิ่งที่ดีอยู่แล้ว ให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปได้ด้วยเช่นกัน
ดังจะเห็นว่ามีผู้บริหารหรือคนเก่งๆ หลายคน ที่เดิมก็เก่ง
อยู่แล้ว แต่ก็ยังมีการว่าจ้างโค้ชเข้ามาเพื่อการพัฒนาให้ตัวเองสามารถเป็นคนที่ดีและเก่งยิ่งๆ ขึ้นไปอีกครับ
อย่ารอให้ต้องปวดฟันถึงจะพาตัวเองไปพบคุณหมอฟัน
อย่ารอให้มีปัญหาเกิดขึ้นถึงจะพาตัวเองไปพบโค้ช
คุณสามารถพาตัวเองไปพบคุณหมอฟันหรือโค้ชได้
แม้ว่ายังไม่ได้มีปัญหาใดๆ และเป็นสิ่งที่คุณควรจะทำ
เป็นประจำสม่ำเสมอครับ

หวังว่า การแบ่งปัน เรื่อง “การโค้ช กับ หมอฟัน” นี้
จะเป็นประโยชน์แก่ทุกท่านบ้างไม่มากก็น้อย
และหวังว่า จะทำให้ทุกคนมีความกล้าเพิ่มมากขึ้น
ในการ “พบหมอฟัน” หรือ “พบโค้ช” นะครับ

วันนี้คุณดูแลสุขภาพในช่องปาก และ 
คุณภาพชีวิตของคุณ ดีรึยัง?

และคุณไปพบคุณหมอฟัน หรือ พบโค้ช 
ครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ครับ?